สภาพภูมิอากาศในกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดีย เข้าสู่ภาวะอันตราย ทำให้ทางการออกมาประกาศสภาวะฉุกเฉิน หลังจากที่หมอกควันปกคลุมสูงเกินมาตรฐานเข้าขั้นอันตราย ถึงขนาดสั่งปิดโรงเรียนประถมชั่วคราว ทางด้านเว็บไซต์สถานทูตสหรัฐประจำกรุงนิวเดลี ออกมาเผยข้อมูลว่าวันที่ 7 พฤษจิกายน พ.ศ. 2560 ระดับค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก วัดได้ 703 โดยสูงเกินเป็นจำนวน 2 เท่าของค่ามาตรฐาน 300 ซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับอันตราย ส่งผลกระทบต่อมลพิษทางอากาศซึ่งจะยังคงเลวร้ายลงไปอีก ทางด้านสมาคมแพทย์อินเดีย ก็ได้ออกมาประกาศสภาวะฉุกเฉินซึ่งขอให้ทางการนิวเดลียับยั้งภัยคุกคามนี้อย่างเร่งด่วน
ทำให้สถานการณ์ล่าสุด นายมานิช ซิโซเดีย รองมุขมนตรี ได้สั่งให้ปิดโรงเรียนประถมทั้งหมดในกรุงนิวเดลี ซึ่งจะมีการดูเป็นรายชั่วโมง เพื่อพิจารณาว่าจะสั่งปิดไปอีกนานเท่าไหร่
ทางด้านอากาศในกรุงนิวเดลี มักจะเสื่อมโทรมลงในช่วงก่อนเข้าฤดูหนาว เพราะอากาศเย็นจะพามลพิษไปไว้ใกล้พื้นดิน ผสมเข้ากับการจุดพลุดอกไม้ไฟ เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลดิวาลี รวมทั้งมลพิษจากเครื่องยนต์ดีเซล , โรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงงานอุตสาหกรรม จึงทำให้ระดับมลพิษเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่น่าสงสัย
อีกทั้งยังมีการเผาทำลายซากจากผลผลิตทางการเกษตร หลังจากการเก็บเกี่ยวทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย จึงทำให้คุณภาพอากาศเสื่อมโทรมลงด้วย ทางด้านโซเชียลก็มีการเคลื่อนไหวกับเหตุการณ์ร้ายแรงดังกล่าว ประชาชนพิมพ์ #smog เพื่อกระตุ้นให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษ
ย้อนไปในปี พ.ศ. 2557 องค์การอนามัยโลกเคยกำหนดให้กรุงนิวเดลีเป็นเมืองหลวงมีมลพิษมากที่สุดในโลก อีกทั้งยังมีสภาพอากาศเสื่อมโทรมยิ่งกว่ากรุงปักกิ่งเสียอีก ในกรุงนิวเดลี เช่น รัฐ Haryana และรัฐ Punjab พบปัญหามลพิษทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เดือน ตุลาคม – มีนาคม เมื่อความเย็นกดละอองและควันพิษให้ลอยต่ำเหนือพื้นดิน อีกทั้งยังเป็นการบล็อกไม่ให้ควันพิษเหล่านั้นระเหยตัวในอากาศ บวกกับความกดอากาศด้วย จึงทำความหนาแน่นของมลพิษในเมืองมีความเข้มข้นขึ้นในช่วงหน้าหนาว
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ออกมาระบุว่า PM หรือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ ถ้าหากได้รับเข้าสู่ร่างกายจำนวนมากจะเป็นอันตรายต่อชีวิตมากกว่าสารพิษตัวอื่นๆ เสียอื่น โดยเฉพาะฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 10 PM มันมีความเล็กมาก จึงสามารถแทรกตัวเข้าไปในปอดส่วนลึกได้อย่างง่ายดาย ส่งผลต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งโรคทางเดินหายใจ และมะเร็งปอด สามารถเพิ่มอัตราการเสียชีวิตของมนุษย์ได้อย่างรวดเร็ว แต่ถึงจะได้รับฝุ่นละอองขนาดเล็กเพียงเล็กน้อย แต่ก็อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคือง ปรากฏผื่นคันบริเวณผิวหนัง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก สามารถกระตุ้นผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ได้